กฎกระทรวง
ว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๘
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ (๓) (ข) และ (๕) มาตรา ๕ (๑) (๒) และ (๓) มาตรา ๗ มาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) และ (๑๖) มาตรา ๒๑ ทวิ มาตรา ๓๑ (๓) มาตรา ๓๒ ทวิ และมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ บรรดากฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในกฎกระทรวงนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้กฎกระทรวงนี้แทน
ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้
“ถนนสาธารณะ” หมายความว่า ทางสาธารณะประเภทถนน ซอย หรือทางที่เปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือไม่
“หลังคา” หมายความว่า สิ่งปกคลุมส่วนบนของอาคารสำหรับป้องกันแดดและฝนรวมทั้งโครงสร้างหรือสิ่งใดซึ่งประกอบขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวสิ่งปกคลุมนี้ให้มั่นคงแข็งแรง
“ดาดฟ้า” หมายความว่า พื้นส่วนบนสุดของอาคารที่ไม่มีหลังคาปกคลุม และบุคคลสามารถขึ้นไปใช้สอยได้
“แรงลม” หมายความว่า แรงของลมที่กระทำต่อโครงสร้าง
“หน่วยแรง” หมายความว่า แรงหารด้วยพื้นที่หน้าตัดที่รับแรงนั้น
ข้อ ๓ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับกับป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ที่สร้างขึ้นโดยมีความสูงจากระดับฐานหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างตั้งแต่ ๑๐ เมตร ขึ้นไป
(๒) ที่ติดหรือตั้งไว้เหนือที่สาธารณะสูงจากระดับพื้นดินเกิน ๒.๕๐ เมตร และมีพื้นที่ของป้ายเกิน ๑ ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักรวมทั้งโครงสร้างเกิน ๑๐ กิโลกรัม
(๓) ที่ติดหรือตั้งไว้ในระยะห่างจากที่สาธารณะซึ่งเมื่อวัดในทางราบแล้ว ระยะห่างจากที่สาธารณะมีน้อยกว่าความสูงของป้ายนั้นเมื่อวัดจากพื้นดิน และมีความกว้างของป้ายเกิน ๕๐ เซนติเมตร หรือมีความยาวเกิน ๑ เมตร หรือมีพื้นที่ของป้ายเกิน ๕,๐๐๐ ตารางเซนติเมตร หรือมีนํ้าหนักของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันเกิน ๑๐ กิโลกรัม
หมวด ๑
การขออนุญาต การอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต
การโอนใบอนุญาต การออกใบรับรอง และการออกใบแทน
-----------------------
ข้อ ๔ แบบคำขออนุญาต ใบอนุญาต ใบรับรอง และใบแทนการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
ข้อ ๕ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต หรือการต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้เป็นไปตามข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๒/๑ ข้อ ๖ ข้อ ๖/๑ ข้อ ๖/๒ ข้อ ๖/๓ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๑๐ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เว้นแต่แผนที่สังเขป แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) มาตราส่วน ขนาด ระยะ น้ำหนัก และหน่วยการคำนวณต่าง ๆ ให้ใช้ระบบหน่วยเอสไอ (Le Système International d’ Unités : SI) เป็นหลัก
(๒) แผนที่สังเขปให้แสดงตำแหน่งที่ตั้งของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายและบริเวณข้างเคียงโดยสังเขป
(๓) แผนผังบริเวณให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า ๑ ใน ๑๐๐ แสดงลักษณะที่ตั้งและขอบเขตของที่ดิน และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ขออนุญาต พร้อมทั้งรายละเอียดเท่าที่จะต้องมีตามลักษณะของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ดังนี้
(ก) แสดงขอบนอกของอาคารหรือป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีอยู่แล้ว
(ข) ระยะห่างจากขอบนอกของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ขออนุญาตถึงขอบเขตของที่ดินทุกด้าน
(ค) ระยะห่างระหว่างอาคารที่มีอยู่แล้ว และป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(ง) ลักษณะและขอบเขตของที่สาธารณะและอาคารในบริเวณที่ดินที่ติดต่อ และป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่อยู่ใกล้เคียงโดยสังเขป พร้อมด้วยเครื่องหมายทิศ
(จ) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับของพื้นดินที่ติดหรือตั้งป้ายกับระดับของทางหรือถนน หรือที่สาธารณะที่ใกล้ที่สุด
(๔) แบบแปลนให้ใช้มาตราส่วนไม่เล็กกว่า ๑ ใน ๕๐ โดยต้องแสดงแปลนรูปด้านทุกด้าน รูปตัดทางขวาง รูปตัดทางยาว ผังโครงสร้าง และผังฐานราก ของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายที่ขออนุญาต พร้อมด้วยรายละเอียดเท่าที่จะต้องมีตามลักษณะของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้น
สำหรับติดหรือตั้งป้าย หากมีผังระบบไฟฟ้าและผังระบบป้องกันฟ้าผ่าให้แสดงมาด้วย ดังนี้
(ก) แบบแปลนต้องแสดงรายละเอียดส่วนสำคัญ ขนาด เครื่องหมาย และวัสดุของป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะพิจารณาตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
(ข) แบบแปลนสำหรับการก่อสร้างป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้แสดงส่วนต่าง ๆ ของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย การเชื่อมยึดระหว่างแผ่นป้ายกับสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย การเชื่อมยึดระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย และการเชื่อมยึดระหว่างสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายกับฐานรากให้ชัดเจน
(ค) แบบแปลนสำหรับการดัดแปลงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้แสดงส่วนที่มีอยู่เดิมและส่วนที่จะดัดแปลงให้ชัดเจน สำหรับป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ให้แสดงรายละเอียดการเชื่อมยึดระหว่างป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายกับโครงสร้างของอาคารที่จะก่อสร้างให้ชัดเจน
(ง) แบบแปลนสำหรับการรื้อถอนป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้แสดงขั้นตอน วิธีการ และความปลอดภัยในการรื้อถอนด้วย
(จ) แบบแปลนสำหรับการเคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้แสดงขั้นตอน วิธีการ ความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายด้วย
(๕) รายการประกอบแบบแปลน ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและชนิดของวัสดุ และวิธีปฏิบัติหรือวิธีการสำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(๖) รายการคำนวณ ให้แสดงวิธีการตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ โดยคำนวณกำลังของวัสดุ การรับน้ำหนัก และกำลังต้านทานของส่วนต่าง ๆ ของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายสำหรับป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ให้แสดงรายการคำนวณว่าอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการก่อสร้างหรือติดตั้ง
หมวด ๒
การยกเว้น ผ่อนผัน และการกำหนดเงื่อนไขการขออนุญาต
-----------------------
ข้อ ๖ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ได้รับการยกเว้น ผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐
หมวด ๓
การรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทน
-----------------------
ข้อ ๗ ในการคำนวณออกแบบโครงสร้างป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้ใช้ค่าหน่วยแรง วิธีการ และเกณฑ์การออกแบบโดยให้เป็นไปตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๔ และข้อ ๑๘ ถึงข้อ ๒๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เว้นแต่ค่าหน่วยแรงลม ค่าหน่วยแรง วิธีการ และเกณฑ์การออกแบบ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
การคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
หมวด ๔
ลักษณะ ขนาด ระยะ ความสูง และแนวร่น
-----------------------
ข้อ ๘ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่อาคารต้องไม่บังช่องระบายอากาศ หน้าต่าง ประตู หรือทางหนีไฟ
ข้อ ๙ ป้ายบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร เว้นแต่ป้ายชื่ออาคารที่สูงไม่เกิน ๓ เมตร ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ดังนี้
(๑) ไม่ล้ำออกนอกแนวผนังรอบนอกของอาคาร
(๒) ความสูงของป้ายไม่เกิน ๖ เมตร และมีความสูงของป้ายและอาคารรวมกันไม่เกิน ๓๐ เมตร เมื่อวัดจากระดับพื้นดิน
(๓) มีพื้นที่ป้ายไม่เกิน ๗๕ ตารางเมตร
เพื่อประโยชน์ในการคิดระยะร่นของอาคารตามที่กำหนดไว้ตามข้อ ๔๔ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๕ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในกรณีที่ป้ายอยู่บนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารให้ถือว่าป้ายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโดยคิดรวมเป็นความสูงของอาคารด้วย
ข้อ ๑๐ ป้ายที่ยื่นจากผนังอาคารให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้
(๑) อาคารที่ไม่มีกันสาด ให้ยื่นจากแนวอาคารได้ไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร และส่วนต่ำสุดต้องสูงจากพื้นหน้าอาคารนั้นไม่น้อยกว่า ๓.๒๕ เมตร อาคารที่มีกันสาดให้ยื่นจากแนวอาคารเหนือกันสาดได้ไม่เกิน ๒ เมตร หรือไม่เกินแนวกันสาดแล้วแต่ระยะใดจะน้อยกว่า
(๒) ความสูงของป้ายต้องไม่เกิน ๑ ใน ๓ ส่วนของความสูงของอาคาร แต่ต้องไม่เกิน ๑๕ เมตร
(๓) ส่วนสูงสุดของป้ายต้องไม่เกินจุดสูงสุดของผนังอาคารด้านที่ติดตั้งป้ายนั้น
ข้อ ๑๑ ป้ายที่ติดตั้งเหนือกันสาดและไม่ได้ยื่นจากผนังอาคาร ให้ติดตั้งได้โดยมีความสูงของป้ายไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร วัดจากขอบบนของปลายกันสาดนั้น และมีพื้นที่ป้ายไม่เกิน ๒.๕๐ ตารางเมตร
ข้อ ๑๒ ป้ายที่ติดตั้งใต้กันสาดให้ติดตั้งแนบผนังอาคารและต้องสูงจากพื้นหน้าอาคารนั้นไม่น้อยกว่า ๒.๕๐ เมตร ในกรณีที่ไม่สามารถติดกับผนังได้โดยตรงให้ติดห่างจากผนังได้ไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร
ข้อ ๑๓ ป้ายโฆษณาสำหรับโรงมหรสพให้ติดตั้งขนานกับผนังอาคารโรงมหรสพแต่จะยื่นห่างจากผนังได้ไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร หรือหากติดตั้งป้ายบนกันสาดจะต้องไม่ยื่นล้ำแนวปลายกันสาดนั้น และความสูงของป้ายทั้งสองกรณีต้องไม่เกินความสูงของอาคาร
ข้อ ๑๔ สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรงให้ทำด้วยวัสดุทนไฟทั้งหมด
ข้อ ๑๕ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ติดตั้งอยู่บนพื้นดินโดยตรงต้องมีความสูงไม่เกินระยะที่วัดในทางราบจากขอบป้ายไปจนถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้ป้ายนั้น มีความสูงไม่เกิน ๓๐ เมตร มีความยาวไม่เกิน ๓๒ เมตร และห่างจากแนวเขตที่ดินของตนหรือป้ายอื่นไม่น้อยกว่าความสูงของป้าย เว้นแต่จะก่อสร้างห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า ๖ เมตร และได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้น
ข้อ ๑๖ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะเมื่อวัดในทางราบให้มีระยะห่างระหว่างขอบป้ายกับถนนสาธารณะ ดังนี้
(๑) ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า ๑๐ เมตร ให้ขอบป้ายห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย ๖ เมตร
(๒) ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ ๑๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๒๐ เมตร ให้ขอบป้ายห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย ๑ ใน ๑๐ ของความกว้างของถนนสาธารณะ
(๓) ถนนสาธารณะที่มีความกว้างเกิน ๒๐ เมตร ให้ขอบป้ายห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย ๒ เมตร
หมวด ๕
ระบบการจัดแสงสว่าง
-----------------------
ข้อ ๑๗ การจัดให้มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างส่องแผ่นป้ายหรือป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเอง แสงสว่างที่ออกจากป้ายจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อบริเวณข้างเคียง และไม่รบกวนการมองเห็นสภาพการจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะจนอาจส่งผลต่อการควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะ
หมวด ๖
การตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้าง
-----------------------
ข้อ ๑๘ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐
หมวด ๗
ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
-----------------------
ข้อ ๑๙ ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาตป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย และค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนก่อสร้าง หรือดัดแปลงสำหรับการก่อสร้างหรือสำหรับส่วนที่มีการดัดแปลง ให้เป็นไปตามที่กำหนดท้ายกฎกระทรวงนี้
หมวด ๘
การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้าย
-----------------------
ข้อ ๒๐ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ให้เป็นไปตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ข้อ ๕ ถึงข้อ ๙ และข้อ ๑๒ ถึงข้อ ๓๓ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เว้นแต่การติดป้ายแสดงรายละเอียดการก่อสร้าง ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ ๑๕ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้ายตั้งแต่ ๕๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคาร หรือบนส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๒๕ ตารางเมตรขึ้นไป ก่อนเริ่มการก่อสร้างผู้ดำเนินการต้องติดป้ายขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๑.๒๐ เมตร มีความยาวไม่น้อยกว่า ๒.๔๐ เมตร ในบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และสามารถเห็นได้ง่ายตลอดเวลาที่ก่อสร้าง โดยแสดงข้อความดังต่อไปนี้
การก่อสร้างป้ายชนิด.................................... จำนวน.................................................
ใบอนุญาต/ใบรับแจ้ง เลขที่....... ลงวันที่.............. กำหนดแล้วเสร็จในวันที่...............
เจ้าของป้าย.................................................................................................................
ผู้ดำเนินการ................................................................................................................
วิศวกรผู้ออกแบบ.........................ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลขทะเบียน................
สถาปนิกผู้ออกแบบ......................ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลขทะเบียน................
วิศวกรผู้ควบคุมงาน......................ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลขทะเบียน................
สถาปนิกผู้ควบคุมงาน..................ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลขทะเบียน.................
หมวด ๙
การกระทำที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลง
-----------------------
ข้อ ๒๑ การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(๑) การเปลี่ยนโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย โดยใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับหรือเทียบเท่ากับของเดิมหรือดีกว่า โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบและลักษณะโครงสร้าง เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือคอนกรีตอัดแรง
(๒) การเปลี่ยนแปลง การเพิ่มส่วนต่าง ๆ ของป้ายที่ไม่เป็นโครงสร้าง โดยใช้วัสดุเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่น ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบของน้ำหนักรายการคำนวณโครงสร้างที่ได้รับอนุญาตครั้งแรกและไม่เป็นการเพิ่มขนาดหรือพื้นที่ป้าย
การกระทำตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ข้อ ๒๒ การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา ๓๙ ทวิ ให้กระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ เว้นแต่ระยะที่ตั้งของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ถึงขอบเขตที่ดินหรือขอบเขตที่สาธารณะผิดไปจากแผนผังบริเวณเกินร้อยละยี่สิบ
(๒) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบหรือรูปทรงของโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย เว้นแต่
(ก) สัดส่วนโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายผิดไปจากแบบแปลนหรือรายการประกอบแบบแปลน หรือ
(ข) เมื่อผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ตามมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย เพื่อความมั่นคงแข็งแรง โดยไม่ทำให้ลักษณะ แบบ รูปทรง เนื้อที่ และที่ตั้งผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือที่ได้แจ้งไว้ และได้แจ้งให้ผู้ควบคุมงานและเจ้าของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทราบแล้ว พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบโดยมีเหตุผลแสดงความจำเป็นพร้อมด้วยแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณโครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายส่วนนั้นแล้ว ทั้งนี้ ต้องแจ้งก่อนใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนสิ้นอายุ หรือก่อนครบกำหนดวันสิ้นสุดการดำเนินการตามที่ได้แจ้งไว้
(๓) ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน หรือเนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เป็นโครงสร้าง อันเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ
การกระทำตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
หมวด ๑๐
หน้าที่และความรับผิดของเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครอง
ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
-----------------------
ข้อ ๒๓ เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ ๑๕ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้ายตั้งแต่ ๕๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๒๕ ตารางเมตรขึ้นไป ให้มีหน้าที่ดังนี้
(๑) ต้องจัดให้มีตัวอักษรแสดงเลขที่ใบรับรองการตรวจสอบ ในกรณีที่ยังไม่มีใบรับรองการตรวจสอบป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายให้แสดงเลขที่ใบอนุญาตก่อสร้างแทน
รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า ๒๐ เซนติเมตร แสดงไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจนในบริเวณด้านหน้าป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(๒) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. ๒๕๔๘
หมวด ๑๑
ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่มีสภาพอาจเป็นภยันตราย
-----------------------
ข้อ ๒๔ ในกรณีที่ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงอันอาจเป็นภยันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่ง ในกรณีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวได้ทันทีตามวิธีการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดหรือสั่งห้ามมิให้ใช้ป้ายนั้นจนกว่าจะมีการแก้ไข
หมวด ๑๒
หลักเกณฑ์การตรวจสอบ
-----------------------
ข้อ ๒๕ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ ๑๕ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ป้ายตั้งแต่ ๕๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ ๒๕ ตารางเมตรขึ้นไป ที่การก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จมาแล้วเกินหนึ่งปี ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณีทำการตรวจสอบตามมาตรา ๓๒ ทวิ
ข้อ ๒๖ คุณสมบัติเฉพาะและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบป้าย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๘ เว้นแต่วิธีการตรวจสอบป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายและอุปกรณ์ประกอบของป้าย ให้ดำเนินการ ดังนี้
(๑) การตรวจสอบป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายและอุปกรณ์ประกอบของป้ายให้ตรวจสอบเป็นประจำทุกสามปี
(๒) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายอย่างน้อยต้องทำการตรวจสอบ ดังต่อไปนี้
(ก) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงขนาดของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(ข) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของแผ่นป้าย
(ค) การเปลี่ยนแปลงวัสดุของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(ง) การชำรุดสึกหรอของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(จ) การวิบัติของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย
(ฉ) ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างและฐานรากของสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย (กรณีป้ายที่ตั้งบนพื้นดิน)
(ช) ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารที่ติดตั้งป้าย (กรณีป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคาร หรือบนส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร)
(ซ) การเชื่อมยึดระหว่างแผ่นป้ายกับสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย การเชื่อมยึดระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย และการเชื่อมยึดระหว่างสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายกับฐานรากหรืออาคาร
(๓) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของป้ายอย่างน้อยต้องทำการตรวจสอบ ดังต่อไปนี้
(ก) ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและระบบไฟฟ้ากำลัง
(ข) ระบบป้องกันฟ้าผ่า
(ค) ระบบอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ
บทเฉพาะกาล
-----------------------
ข้อ ๒๗ ให้ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครอง หรือเจ้าของป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับใบแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือก่อสร้างดัดแปลงแล้วเสร็จไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตามข้อ ๒๓ (๑) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อัตราค่าธรรมเนียม
(๑) ใบอนุญาตก่อสร้าง ฉบับละ ๒๐๐ บาท
(๒) ใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๓) ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ ๕๐ บาท
(๔) ใบอนุญาตเคลื่อนย้าย ฉบับละ ๕๐ บาท
(๕) ใบรับรองการตรวจสอบสภาพ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๖) ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบรับรอง ฉบับละ ๑๐ บาท
(๗) การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตาม (๑) ถึง (๔)
(๘) การตรวจแบบแปลนก่อสร้าง หรือดัดแปลงป้าย ให้คิดค่าธรรมเนียม
สำหรับการก่อสร้างหรือสำหรับส่วนที่มีการดัดแปลงตามพื้นที่ของป้าย
โดยเอาส่วนที่กว้างที่สุดคูณด้วยส่วนยาวที่สุด ตารางเมตรละ ๔ บาท
ในการคิดค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลน เศษของตารางเมตรตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปให้ถือเป็นหน่วยเต็ม ถ้าต่ำกว่ากึ่งหนึ่งให้